ขอบเขต ของ อุทกภัยในรัฐควีนส์แลนด์ พ.ศ. 2553-2554

ภาพถ่ายจากดาวเทียมของนาซา แสดงถึงอุทกภัยในรัฐควีนส์แลนด์

เดิมอุทกภัยส่งผลกระทบให้ประชาชน 1,000 คนได้รับการอพยพออกจากเมืองธีโอดอร์และอีกหลายเมือง ฝ่ายทหารได้สนับสนุนโดยการเคลื่อนย้ายประชาชนทางเฮลิคอปเตอร์ไปยังศูนย์การอพยพในมัวรา การอพยพประชากรทั้งเมืองของธีโอดอร์ได้รับการอธิบายว่าไม่เคยปรากฏมาก่อนโดยรักษาการหัวหน้าเจ้าหน้าที่จัดการฉุกเฉินรัฐควีนส์แลนด์[10] บันดาเบิร์กประสบกับอุทกภัยรุนแรงหลังจากน้ำในแม่น้ำเบอร์เน็ตต์เอ่อล้นเข้าท่วมเมือง ชินชิลล่าและเจอริโกก็ประสบภัยพิบัติเช่นกัน[11]

การคมนาคมทางถนนของเอมเมอรัลถูกตัดขาดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม หลังจากน้ำในแม่น้ำนากัวมีระดับสูงขึ้น[11] ในวันรุ่งขึ้น น้ำในแม่น้ำได้เกินความสูงที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งอุทกภัยใน พ.ศ. 2551 ที่ความสูง 15.36 เมตร[12] พื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของเมืองถูกน้ำท่วมในช่วงที่เกิดอุทกภัยหนักที่สุด นับเป็นภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดที่เมืองเคยประสบมา[13]

ร็อกแฮมป์ตันมีเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ในการเตรียมรับมือกับอุทกภัยหลังจากน้ำในแม่น้ำฟิตซรอยเพิ่มสูงขึ้น ท่อากาศยานถูกปิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม[14] และเมื่อถึงวันที่ 3 ธันวาคม การติดต่อทางอากาศ ถนน และทางรางกับส่วนอื่นของประเทศถูกตัดขาดอย่างสมบูรณ์[15] ผนังกั้นน้ำโลหะถูกตั้งขึ้นรอบอาคารที่พักผู้โดยสารเพื่อป้องกันไม่ให้ซากปรักหักพังที่เกิดจากอุทกภัยสร้างความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้าง ศูนย์ผู้อพยพได้ถูกตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลควีนส์แลนด์[16] ท่าเรือแกลดสโตนลดปริมาณการส่งออกสินค้าลงเนื่องจากการขาดการขนส่งถ่านหินทางราง และเนื่องจากคลังสินค้าของท่าเรือชุ่มไปด้วยน้ำ[17] ชาวเมืองเอมเมอรัล 1,200 คน ได้ลงทะเบียนเป็นผู้อพยพ[16]

อุทกภัยในเดลบีเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2524[18] ระบบการทำน้ำให้สะอาดของเมืองถูกน้ำท่วม ซึ่งส่งผลให้มีการจำกัดน้ำที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำน้ำให้สะอาดนี้ น้ำกว่า 112,500 ลิตรได้รับการขนส่งมายังเมืองที่มีประชากรกว่า 14,000 คน[19] แม่น้ำคอนดาไมน์เพิ่มระดับสูงขึ้นเป็น 14.25 เมตร เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม เป็นระดับที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา และยังคงมีระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ[6] เมืองคอนดาไมด์มีการอพยพประชาชนในวันเดียวกัน[5]

ในรัฐควีนส์แลนด์ตะวันออกเฉียงใต้ เขื่อนไวเว็นโฮมีปริมาณน้ำ 122% ของปริมาณเก็บกัก ส่งผลให้ต้องมีการระบายน้ำออกทั้งห้าประตู[20] บริสเบนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยหนักที่สุดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2402[17]

นายกรัฐมนตรี จูเลีย กิลลาร์ด ลงตรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม[16]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อุทกภัยในรัฐควีนส์แลนด์ พ.ศ. 2553-2554 http://www.australiangeographic.com.au/journal/the... http://www.brisbanetimes.com.au/environment/weathe... http://www.brisbanetimes.com.au/environment/weathe... http://www.brisbanetimes.com.au/environment/weathe... http://www.heraldsun.com.au/news/breaking-news/dri... http://www.heraldsun.com.au/news/national/flooded-... http://www.news.com.au/national/disease-fears-grow... http://www.qt.com.au/story/2010/12/30/gates-open-a... http://news.smh.com.au/breaking-news-national/floo... http://news.smh.com.au/breaking-news-national/hund...